
วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 ความปลอดภัยในชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
เรื่อง ชีวิตที่ปลอดภัย เวลา 7 ชั่วโมง อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และสถานที่ แต่สามารถป้องกันได้โดยการไม่ประมาท
ตัวชี้วัด / จุดประสงค์การเรียนรู้
ตัวชี้วัดพ 5.1 ป.1/1 ระบุสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายที่บ้าน โรงเรียน และการป้องกัน
ป.1/3 แสดงคำพูดหรือท่าทางขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อเกิดเหตุร้ายที่บ้านและโรงเรียน
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. บอกสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายที่บ้านและโรงเรียนได้2. บอกวิธีการป้องกันอันตรายที่บ้านและโรงเรียนได้
3. ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุร้ายที่บ้านและโรงเรียนได้
สาระการเรียนรู้
สาระการเรียนรู้แกนกลาง
1. อุบัติเหตุภายในบ้าน
2. วิธีป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน
3. วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน
4. อุบัติเหตุในโรงเรียน
5. วิธีป้องกันอุบัติเหตุในโรงเรียน
6. วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
ความสามารถในการสื่อสาร
ความสามารถในการคิด
- ทักษะการคิดวิเคราะห์
ความสามารถในการแก้ปัญหา
ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
- กระบวนการปฏิบัติ
- กระบวนการทำงานกลุ่ม
คุณลักษณะอันพึงประสงค์
1. มีวินัย
2. ใฝ่เรียนรู้
3. มีจิตสาธารณะ
(วิธีสอนโดยเน้นกระบวนการ : กระบวนการสร้างความตระหนัก, กระบวนการกลุ่ม และวิธีสอนโดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ : เทคนิค Jigsaw)
นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน หน่วยการเรียนรู้ที่ 4
ชั่วโมงที่ 1-2
1.ครูซักถามนักเรียนเกี่ยวกับการได้รับบาดเจ็บขณะอยู่ในบ้าน โดยครูถามนำ เช่น- นักเรียนเคยตกบันไดหรือไม่
- นักเรียนเคยถูกมีดบาดหรือไม่
- นักเรียนเคยถูกน้ำร้อนลวกหรือไม่
ฯลฯ
2. ครูอธิบายให้นักเรียนทราบว่า การเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ หากสมาชิกในบ้านใส่ใจและร่วมกันป้องกันด้วยการไม่ประมาท
3. นักเรียนดูภาพในหนังสือเรียน แล้วร่วมกันสังเกตภาพและคาดคะเนอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น โดยครูตั้งคำถาม ดังนี้
- นักเรียนคิดว่า เด็กในภาพปฏิบัติเหมาะสมหรือไม่
- จากภาพ นักเรียนคิดว่า จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
4. นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของอุบัติเหตุ แล้วครูช่วยยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุและเหตุการณ์ที่ไม่เป็นอุบัติเหตุมาให้นักเรียนได้เปรียบเทียบกัน เช่น
- อ๋อมโดนมีดบาด
- แก้วผ่าตัดไส้ติ่ง
- อ้อยวิ่งชนกับเพื่อนหัวแตก
- เอิร์นปวดท้อง
5. นักเรียนช่วยกันแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า อุบัติเหตุ เป็นภัยที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ หรือความประมาท
6. นักเรียนศึกษาความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุภายในบ้าน ในหนังสือเรียน แล้วช่วยกันยกตัวอย่างอุบัติเหตุที่มักจะเกิดขึ้นภายในบ้านเพิ่มเติม เช่น
- ลื่นหกล้มในห้องน้ำ
- ประตูหนีบมือ
- น้ำแกงลวก
7. นักเรียนทำแบบสำรวจพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน โดยขีด Pลงในตารางตามความเป็นจริง เมื่อเสร็จแล้วครูสุ่มเรียกนักเรียน 3 คน ออกมาแสดงผลการสำรวจและพฤติกรรมที่ควรปรับปรุงของตนเอง
8. ครูแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน ให้แต่ละกลุ่มศึกษาวิธีการป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน จากหนังสือเรียน แล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม
9. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มบอกวิธีป้องกันอุบัติเหตุในบ้านเพิ่มเติม
10. ครูชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจถึงพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เราได้รับอันตรายจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นนักเรียนควรเรียนรู้วิธีป้องกันอันตรายต่างๆ แล้วปฏิบัติตาม
11. นักเรียนทำใบงานที่ 1.1 เรื่อง อุบัติเหตุภายในบ้าน โดยสำรวจภายในบ้านของตนเองว่า มีบริเวณใดหรือสิ่งใดที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบ้าง แล้วบอกวิธีการป้องกันอุบัติเหตุ
12. ครูสุ่มเรียกนักเรียน 4-5 คน ออกมานำเสนอคำตอบในใบงานที่หน้าชั้นเรียน
ชั่วโมงที่ 3-4
1. นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า ถ้านักเรียนเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ควรทำอย่างไร แล้วส่งตัวแทนออกมารายงานผลการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มที่หน้าชั้นเรียน 2. ครูชี้แจงให้นักเรียนทราบว่า หากเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ควรแจ้งหรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทันที
3. นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันศึกษาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ในหนังสือเรียน
4. นักเรียนแต่ละกลุ่มแสดงบทบาทสมมุติเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือครู เมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้านตามที่ตัวแทนกลุ่มจับสลากได้ โดยครูกำหนดสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ ดังนี้
- สถานการณ์ที่ 1 ตกบันได
- สถานการณ์ที่ 2 น้ำร้อนลวก
- สถานการณ์ที่ 3 มีดบาดนิ้ว
- สถานการณ์ที่ 4 ลื่นหกล้มในห้องน้ำ
5. นักเรียนแต่ละกลุ่มผลัดกันออกมาแสดงบทบาทสมมุติที่หน้าชั้น แล้วให้เพื่อนและครูช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง และแสดงความคิดเห็น
6. ครูชมเชยนักเรียนทุกกลุ่มที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรม
7. ครูขออาสาสมัครนักเรียน 1 คน ออกมาบอกแนวทางการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน และครูเสนอแนะวิธีการขอความช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสมเพิ่มเติม ว่าควรเล่าเหตุการณ์ สถานที่ที่เกิดขึ้น และผลที่ได้รับให้ชัดเจนและมีสติ เพราะผู้ฟังอาจจะตกใจจนเกิดความสับสน และย้ำสิ่งที่ต้องการขอความช่วยเหลือให้ชัดเจน
8. นักเรียนทำใบงานที่ 1.2 เรื่อง วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน โดยอ่านเหตุการณ์ที่กำหนดให้ แล้วเขียนวิธีและคำพูดที่จะขอความช่วยเหลือถ้าเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดให้ เมื่อทำเสร็จครูและนักเรียนช่วยกันเฉลยคำตอบ
ชั่วโมงที่ 5-6
1. ครูให้นักเรียนทบทวนความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิต2. ครูถามนักเรียนว่า ในการมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนแต่ละวัน นักเรียนเคยได้รับอุบัติเหตุในโรงเรียนหรือไม่ แล้วช่วยกันยกตัวอย่างอุบัติเหตุที่นักเรียนเคยพบในโรงเรียน
3. ครูแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน คละกันตามความสามารถ เพื่อร่วมกันศึกษาความรู้ โดยให้สมาชิกกลุ่มกำหนดหมายเลขของตนเอง เรียกว่า กลุ่มบ้าน
4. นักเรียนหมายเลขเดียวกัน ไปเข้ากลุ่มเดียวกัน จะมีทั้งหมด 3 กลุ่ม เป็นกลุ่มใหม่ เรียกว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มศึกษาความรู้ ดังนี้
- กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหมายเลข 1 ศึกษาเรื่อง อุบัติเหตุในโรงเรียน
- กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหมายเลข 2 ศึกษาเรื่อง วิธีป้องกันอุบัติเหตุในโรงเรียน
- กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหมายเลข 3 ศึกษาเรื่อง วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน
5. ครูเน้นย้ำให้นักเรียนแต่ละกลุ่มไปศึกษาความรู้ที่ได้รับมอบหมายและสรุปสาระสำคัญจนเชี่ยวชาญทุกคน โดยครูเข้าร่วมสังเกตการศึกษาของกลุ่มย่อยทุกกลุ่ม แล้วให้คำแนะนำเพิ่มเติม
6. ครูตรวจสอบความรู้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มว่ามีความรู้และความสามารถที่จะไปถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนในกลุ่มบ้านได้หรือไม่ ด้วยการตั้งคำถาม แล้วสุ่มเรียกให้นักเรียนตอบ
7. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญแต่ละหมายเลขกลับเข้าสู่กลุ่มบ้าน เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกในกลุ่มบ้านเรียงตามลำดับหมายเลข 1-3 จนครบ และตรวจสอบความถูกต้องร่วมกัน
8. ครูให้สมาชิกในกลุ่มเวียนกันสัมภาษณ์เพื่อนในกลุ่มว่า เคยได้รับอุบัติเหตุภายในโรงเรียนหรือไม่ อย่างไร
9. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมาเล่าเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุภายในโรงเรียนของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม ครูและเพื่อนกลุ่มอื่นร่วมกันแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะวิธีการป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว
ชั่วโมงที่ 7
1. นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันสำรวจบริเวณโรงเรียนว่า อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอะไรบ้าง แล้วร่วมกันบอกวิธีป้องกัน จากนั้นบันทึกข้อมูลลงในสมุด2. นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมานำเสนอผลการสำรวจที่หน้าชั้นเรียน ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น และเสนอวิธีป้องกันอุบัติเหตุภายในโรงเรียน
3. นักเรียนแต่ละกลุ่มทำใบงานที่ 1.3 เรื่อง วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่โรงเรียน โดยอ่านสถานการณ์ที่กำหนดให้ แล้วเขียนวิธีป้องกันอุบัติเหตุมา 3 ข้อ และผลที่จะเกิดขึ้น จากนั้นเลือกวิธีที่ดีที่สุด พร้อมทั้งบอกเหตุผล
4. นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอวิธีป้องกันอุบัติเหตุที่ดีที่สุด และเหตุผลที่เลือก แล้วร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อสรุปวิธีป้องกันอุบัติเหตุที่เป็นข้อสรุปร่วมกันของชั้นเรียน
5. ครูนำตัวอย่างคำขวัญลดอุบัติเหตุมาให้นักเรียนดู แล้วถามนักเรียนว่าคำขวัญเหล่านั้น ควรจะนำไปติดบริเวณใด เพื่ออะไร คำขวัญลดอุบัติเหตุที่ครูนำมาให้นักเรียนดู มีดังนี้
- งดเล่นในห้อง ต้องทำเป็นนิสัย
- จับราวบันไดให้มั่น เพื่อป้องกันการลื่นไถล
- ใช้อุปกรณ์แล้วเก็บเข้าที่ ทุกชีวีปลอดภัย
6. ครูมอบหมายให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันคิดคำขวัญลดอุบัติเหตุ มา 1 คำขวัญ แล้วเขียนลงในกระดาษ และตกแต่งให้สวยงาม
7. นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงาน และนำผลงานไปติดบริเวณที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุภายในโรงเรียน
8. ครูให้นักเรียนทำชิ้นงานที่ 4.1 เรื่อง อุบัติเหตุในบ้านหรือโรงเรียน โดยให้เขียนสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในบ้านและที่โรงเรียน รวมทั้งวิธีการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แล้วออกมาแสดงบทบาทสมมุติเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
สื่อ / แหล่งการเรียนรู้
สื่อการเรียนรู้1. หนังสือเรียน สุขศึกษาและพลศึกษา ป.1
2. ตัวอย่างคำขวัญลดอุบัติเหตุ
3. ใบงานที่ 1.1 เรื่อง อุบัติเหตุภายในบ้าน
4. ใบงานที่ 1.2 เรื่อง วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน
5. ใบงานที่ 1.3 เรื่อง วิธีขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่โรงเรียน
แหล่งการเรียนรู้
1. บริเวณโรงเรียน2. บริเวณบ้านของนักเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น